เข้ามาบันทึกประสบการณ์เอาไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบ CU-TEP แบบสอบด้วยคอมพิวเตอร์ สอบเสร็จแล้วรู้ผลคะแนนทันที!!
เนื่องด้วยเจ้าของบล็อกจำเป็นต้องสอบ CU-TEP อีกแล้ว เป็นอะไรก็ไม่รู้ ชีวิตต้องวนเวียนกับสิ่งนี้
ตอนสมัครสอบที่เว็บก็สังเกตเห็นว่า เอ๊ะ!! มีสอบแบบใหม่ด้วย คือ จัดสอบด้วยคอมพิวเตอร์ สอบแล้วรู้ผลคะแนนทันทีหลังสอบเสร็จ ก็เลยลองจัดสักหน่อย
แต่ค่าสมัครสอบค่อนข้างสูงมาก คือ 2,500 บาท รับสมัครรอบละ 45 คน
สมัครสอบแล้ว ต้องไปจ่ายค่าสมัครสอบให้ทันภายในวันถัดไป ไม่งั้นจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากระบบ
วาร์ปมาที่วันสอบเลยละกันนะครับ
เจ้าของบล็อกได้รอบสอบวันศุกร์ โดย CU-TEP แบบ E-Testing นี้จะจัดสอบที่อาคารจามจุรี 8 ชั้น 4
ไปถึงอาคารแล้วก็ตรวจอบชื่อและที่นั่งสอบของตัวเองที่บอร์ดด้านหน้าอาคาร แล้วรอเวลาประตูห้องสอบเปิด
พอไปถึงห้องสอบ ก็จะมีให้ตรวจสอบรายชื่อและที่นั่งสอบอีกครั้ง
และก็เหมือนกับการสอบ CU-TEP แบบปกติ คือ ไม่ให้เอาอะไรเข้าห้องสอบเลย ไม่ว่าจะเป็นปากกา ดินสอ นาฬิกาข้อมือ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ไปแต่ตัวกับบัตรประชาชน
ห้องสอบก็จะเป็นเหมือนห้องคอมพิวเตอร์ แบ่งเป็นแถว ๆ มีแผงกั้นกันลอกข้อสอบ
พอนั่งที่นั่งของตัวเองแล้ว ก็จะพบกับ เครื่องคอมพิวเตอร์ และ คู่มือการใช้งานโปรแกรมที่ใช้ในการสอบ และดินสอ 1 แท่ง
จากนั้น ผู้คุมสอบก็จะแจกบัตรประจำตัวผู้สอบ เป็นกระดาษ A4 ที่พิมพ์รายละเอียดชื่อของเรา เลขที่นั่งสอบ และรหัสผ่านสำหรับเข้าใช้งานโปรแกรมที่ใช้ในการสอบ โดยกระดาษนี้เป็นกระดาษที่เราจะเอาไว้ทดหรือจดอะไรได้ระหว่างสอบ
พอถึงเวลาสอบ ผู้คุมสอบก็จะให้ทุกคนลองหูฟังว่าได้ยินชัดเจนหรือไม่ และให้ log in เข้าโปรแกรมที่ใช้สอบว่ามีปัญหาในการเข้าหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญหาก็เริ่มสอบเลย
ข้อสอบก็จะเหมือนกับการสอบ CU-TEP แบบปกติ คือ มี Listening 30 ข้อ Reading 60 ข้อ และ Writing 30 ข้อ
โปรแกรมที่ใช้สอบก็ใช้งานไม่ยาก สะดวกดี ที่สำคัญคือ มีหูฟัง ทำให้ตอนสอบ Listening ได้ยินเสียงโจทย์ชัดดีมาก
โดยในหน้าจอก็จะมี โจทย์ มีตัวเลือกให้ตอบ มีนาฬิกาจับเวลา และมีหน้าของเราโชว์ด้วย อิอิ
ถ้าทำข้อสอบเสร็จเร็ว เวลายังไม่หมด ระบบก็จะยังไม่ส่งข้อสอบให้ ต้องรอจนเวลาหมดก่อน
พอทำข้อสอบ part สุดท้ายเสร็จ รอเวลาหมด ระบบก็จะส่งข้อสอบให้อัตโนมัติ พร้อมแสดงคะแนนที่สอบได้ (ถ้าอยากได้ใบคะแนนฉบับจริง สามารถลงไปทำเรื่องขอได้เลยที่ชั้น 3 แต่ถ้าอยาก print สำเนาใบคะแนนเอง ก็ไป print เองที่บ้านได้ เพราะคะแนนจะขึ้นในระบบทันที)
สิ่งที่ประทับใจ
- มีหูฟัง ฟัง listening ชัดมากกกกกก
- มีนาฬิกาจับเวลาว่าเหลือเวลาสอบอีกเท่าไหร่ พอเหลือ 5 นาที ก็จะกระพริบเตือนด้วย
- ชีวิตดีมาก ตอนสอบ reading เพราะไม่ต้องพลิกหน้าไปมา เวลาบทความกับโจทย์ที่ให้ตอบอยู่คนละหน้า เพราะสอบด้วยคอมฯ นี้ บทความกับโจทย์จะแสดงคู่ขนานกันไปเลย ไม่ต้องพลิกไปพลิกมา
- ไม่ต้องฝนกระดาษคำตอบให้เมื่อยมือ แค่คลิก ๆ ประหยัดเวลามาก ๆ
- สอบเสร็จแล้วรู้ผลทันที (จัดว่าเป็นข้อดีสินะ อิอิ รู้กันทันทีว่าจะมาสอบแก้มืออีกรอบมั้ย)
- ถ้าได้สอบวันธรรมดา สอบเสร็จแล้วลงไปชั้น 3 ทำเรื่องขอใบคะแนนฉบับจริงได้ทันที พร้อมยื่นสมัครสอบหรือสมัครงาน เสียค่าใบคะแนนฉบับละ 50 บาท
- อ่อ สามารถย้อนกลับไปตอบข้อเก่า ๆ ใน part ที่ผ่านมาแล้วได้ด้วยนะ โดยกดปุ่ม Answer sheet แต่ถ้าย้อนกลับไปใน part ที่ผ่านมาแล้ว เช่น สอบ reading แล้วอยากย้อนกลับแก้ listening จะไม่มีโจทย์ให้อ่าน (เหมือนกับการสอบปกติที่พอจบ part ไหนแล้ว ผู้คุมสอบก็จะเก็บข้อสอบไปเลย อยากย้อนกลับมาตอบก็จะไม่มีโจทย์ให้ ต้องทดในกระดาษเอาเองถ้าอยากกลับมาตอบ)
- ส่วนถ้าจะย้อนกลับไปกลับมาระหว่างข้อใน part เดียวกัน ก็ย้อนได้ปกติ มีปุ่ม Next กับ Previous ให้กดได้เลย หรือให้กดปุ่ม Select question
ข้อสังเกต
- ไม่เหมาะกับคนที่ตาสู้แสงจ้าจากหน้าจอคอมฯ นาน ๆ ไม่ได้ เพราะต้องจ้องจอถึงสองชั่วโมงกว่าตลอดการสอบ
- ไม่มีขยายตัวหนังสือ ใครหวังว่าจะได้สอบด้วยข้อสอบตัวใหญ่ ๆ คงจะต้องผิดหวัง (หรือปรับได้ไม่รู้ แต่เจ้าของบล็อกหาไม่เจอ)
- ราคาสูงไปนิด และรับสมัครแต่ละรอบน้อยไปหน่อย แค่ 45 คนต่อรอบ (แต่เห็นจริง ๆ แล้ว พอเต็ม ระบบก็จะเปิดรอบที่ 2-3 เพิ่มให้อีกโดยสอบในวันเดียวกัน)
- หน้าจอตอนสอบ จะมีคำว่า score ขึ้นอยู่ด้วย ตรงนี้ไม่ต้องสนใจ เพราะจะโชว์แค่ 1 คะแนนตลอดการสอบ ไม่ได้ขึ้นตามข้อที่เราตอบถูก เพราะฉะนั้นถ้าทำข้อสอบแล้วเห็นว่าคะแนนไม่เพิ่มสักทีก็อย่าตกใจไป อิอิ (เจ้าของบล็อกนึกว่าคะแนนจะขึ้นสดเลย แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ทำข้อสอบไป ใจแป้วไป ว่าเราตอบไม่ถูกสักข้อเลยเหรอ ขึ้นแค่ 1 คะแนนตลอด)
- น่าจะให้มีการทดลองการใช้โปรแกรมก่อนสอบด้วยนิดนึง จะได้รู้ว่าทำยังไง เป็นการซ้อมมือ เพราะลำพังแค่การให้อ่านคู่มือก่อนสอบบางทีก็ไม่เห็นภาพว่าใช้งานยังไง (ในเว็บที่สมัครสอบ พอสมัครสอบได้แล้ว จะมีคู่มือการใช้โปรแกรมให้อ่าน ไม่ต้องกลัว)
ถ้าใครต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมก็ไปที่เว็บไซต์ของศูนย์ทดสอบฯ จุฬาฯ เลยครับ ทั้งตารางการรับสมัครสอบและรอบการสอบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น